วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิธีอ่านผลอัลตร้าซาวด์ / น้ำหนักมาตราฐานทารกในครรภ์

สวัสดีค่ะ ห่างหายจากการอัพเดทข้อมูลมาสักพัก เนื่องจากคุณแม่มือใหม่มีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกหลายอย่างเลยค่ะ 

ถ่ายตอน 13 สัปดาห์

เมื่อวานลูกน้อยในครรภ์อายุได้ 15 สัปดาห์กว่า ได้ไปพบคุณหมอแล้วอัลตร้าซาวด์แอบดูลูกสักพัก เรื่องเพศยังชี้ชัดไม่ได้ แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้หญิง แต่คุณหมอยังไม่คอนเฟริมต้องรออัลตร้าซาวด์รอบหน้า 13 เมษายน 57 นี้ค่ะ จะได้รู้กันแน่นอน

15 weeks
ผลอัลตร้าซาวด์ลูกน้อยจ่ำหม่ำ ตัวยาวเชียว

ผลอัลตร้าซาวด์คุณหมอบอกลูกน้อยสมบูรณ์ดี มีดิ้นๆโชว์ด้วย ภาพยังจำติดตาคุณแม่อยู่เลย นึกถึงที่ไรก็ยิ้มทุกที่




ด้วยความที่อยากรู้เพศลูกมากๆ ตอนอัลตราซาวด์ก็พูดกับลูกว่า ถ่างให้แม่ดูหน่อยนะแม่จะได้เตรียมตัวถูก เชื่อไหม.....ถ่างจริงๆแต่แว๊บเดียว ปรากฎว่าหมอบอก "ถ่างแล้วครับแบนราบเลย" คุณพ่อนิ่งไป 3 วินาทีด้วยความหวังว่าจะเป็นลูกชาย 555+ แต่คุณหมอทิ้งท้ายว่ารอบหน้าดูใหม่นะ น้องยังเล็กอยู่ ส่วนตัวปรางเพศไหนไม่สำคัญ ขอให้แข็งแรงเป็นพอ 



คราวนี้มาถึงจุดประสงค์ของโพสนี้กันดีกว่า เนื่องจากว่าในใบตรวจอัลตราซาวด์มันมีตัวเลข และ ตัวย่อเยอะมากมาย จะถามหมอทุกคำก็เกรงใจ แถมตัวเองก็จะจำไม่ได้ด้วย เลยกลับมาหาข้อมูลเองซะเลย


ของปรางผลออกมา


u/s




-------------------------------------------------------------------------------------------------



เอาล่ะมาเข้าสู่วิชาการกันดีกว่า ตัวย่อต่างๆมันมาจากไหน เรามาหาคำตอบกันเลยค่ะ ปรางไม่ใช่ผู้ชำนาญนะค่ะ เป็นแค่คุณแม่ขี้สงสัยเท่านั้นเอง หากมีอะไรผิดพลาดแนะนำได้เลยค่ะ

(หากไม่สนใจส่วนนี้ ข้ามไปด้านล่างไปดูส่วนท้าย เป็นตาราง
มาตราฐานผลอัลตร้าซาวด์ทารกในครรภ์ และ น้ำหนักมาตราฐานทารกในครรภ์ได้เลยค่ะ)


วิธีอ่านผลอัลตร้าซาวด์

1. การวัดความยาวของทารก (CRL)

2. การวัดความกว้างของศีรษะทารก (BPD)
3. การวัดเส้นรอบวงศีรษะ (HC)
4. การวัดเส้นรอบท้อง (AC)
5. การวัดความยาวกระดูกต้นขา (FL)
6. การวัดน้้าคร่้า (AFI)
7. การคำนวณอายุครรภ์
8. การคะเนน้้าหนักทารกในครรภ์ (EFW) Single คือครรภ์เดี่ยว multiple คือครรภ์แฝด


เพิ่มเติมค่ะ แต่ละโรงพยาบาลจะมีข้อมมูลแสดงไม่เท่ากัน ส่วนนี้ของปรางไม่มีแต่มีเพื่อนสงสัยมาเลยหาข้อมมูลเพิ่มค่ะ

EFW1 (HAD-1) หมายถึง Estimated fetal weight น้ำหนักโดยประมาณที่ได้มากจากสูตรที่ชื่อ Haddlock

EFW2 (SHEPARD)  หมายถึง Estimated fetal weight น้ำหนักโดยประมาณที่ได้มากจากสูตรที่ชื่อ Shepard


FHS = fetal heart sound (บางคนเขียน FHB= fetal heart beat) คือ การตรวจคลื่นเสียงเห็นการเต้นของหัวใจเด็ก


คำศัพท์ที่พบบ่อยในใบตรวจ 

Gestational sac คือ ถุงการตั้งครรภ์ 

Fetal cardiac pulsation คืออัตราการเต้นของหัวใจทารก 

Placental site คือตำแหน่งรก 

Placental grading คือ ลักษณะเนื้อรก 


-------------------------------------------------------------------------------------------------

การวัดสัดส่วนทารกในครรภ์สำหรับสูติแพทย์และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

(Fetal Biometry for Obstetrician and General Practitioners)


ที่มา : ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา / ผศ.พญ.เฟื่องลดา ทองประเสริฐ





http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=425:ob-ultrasound-for-extern&catid=39&Itemid=481


1.  การวัดความยาวของทารก (Crown-Rump Length; CRL)

            ความยาวของทารกคือ ระยะที่ยาวที่สุดของตัวอ่อนหรือทารก โดยวัดความยาวจากยอดศีรษะ (crown) ถึงส่วนล่างสุดของสะโพก (rump) โดยไม่วัดรวมส่วนแขนขา (limbs) และถุงไข่แดง (yolk sac) การวัดความยาวของทารกมีประโยชน์ในการทำนายอายุครรภ์ได้ดีในไตรมาสแรก ซึ่งถือว่าเป็นตัววัดที่แปรปรวนน้อยและมีความถูกต้องแม่นยำในการทำนายอายุครรภ์มากที่สุด
ความถูกต้องแม่นยำ
            การวัดความยาวของทารกมีประโยชน์ในการทำนายอายุครรภ์ได้ดีโดยเฉพาะอายุครรภ์ 6 – 14 สัปดาห์ และมีความแม่นยำมากที่สุดในช่วงอายุครรภ์ 6.5 – 10 สัปดาห์ ความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์จากการวัดเพียงหนึ่งครั้งเท่ากับ 4.7 วัน และหากวัดสามครั้งแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยจะพบความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์เพียง 2.7 วัน(1)
ความถูกต้องในการทำนายอายุครรภ์จะลดลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเนื่องจากทารกมักจะงอตัวหรือเหยียดตัวได้บ่อยขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และหลังอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ไปแล้วทารกจะมีขนาดยาวเกินไปจนไม่สามารถวัดได้ตลอดแนวจากภาพเดียว

2.  การวัดความกว้างของศีรษะทารก (Biparietal Diameter; BPD)

            เป็นการวัดสัดส่วนของทารกที่ใช้บ่อยที่สุดตัวหนึ่งในการทำนายอายุครรภ์ สามารถวัดได้ตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นไป นำมาใช้เพื่อประเมินอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุครรภ์ 14 ถึง 28 สัปดาห์
ความถูกต้องแม่นยำ
ความถูกต้องของการวัดความกว้างของศีรษะทารกในการทำนายอายุครรภ์ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์และรูปร่างของศีรษะที่ผิดไปจากปกติ หากวัดก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์เท่ากับ 7 วัน(2) หากวัดช่วงอายุครรภ์หลัง 20 สัปดาห์ความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์เท่ากับ 7 – 11 วัน หรือ 1 – 2 สัปดาห์(3) และหากวัดในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ความคลาดเคลื่อนมีได้สูงถึง 2 – 4 สัปดาห์(4, 5)

3. การวัดเส้นรอบวงศีรษะ (Head Circumference; HC)

            นำมาใช้ประเมินอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองและสามของการตั้งครรภ์ มีความสำคัญในกรณีที่รูปร่างของศีรษะผิดไปจากปกติจนทำให้การประเมินอายุครรภ์จากความกว้างของศีรษะทารกคลาดเคลื่อนไป เนื่องจากเป็นตัววัดที่ไม่ขึ้นกับรูปร่างของศีรษะมากเท่าความกว้างของศีรษะทารก
ความถูกต้องแม่นยำ
ค่าเส้นรอบวงศีรษะเป็นตัววัดที่น่าเชื่อถือตัวหนึ่งในการทำนายอายุครรภ์ ในทางทฤษฎีใช้ทำนายอายุครรภ์ได้ดีกว่าค่าความกว้างของศีรษะทารกเนื่องจากไม่ขึ้นกับรูปร่างของศีรษะทารก แต่ในทางปฏิบัติแล้วการวัดความกว้างของศีรษะทารกทำได้ง่ายกว่า บ่อยครั้งในการวัดเส้นรอบวงศีรษะพบเงาดำ (acoustic shadow) บดบังทำให้ภาพไม่ชัดเกิดความคลาดเคลื่อนในการวัด ทำให้ความถูกต้องแม่นยำน้อยกว่าค่าความกว้างของศีรษะทารก ความคลาดเคลื่อนในการประเมินอายุครรภ์ที่อายุครรภ์ต่างๆ มีดังนี้(5, 10)
ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 20 สัปดาห์เท่ากับ     1          สัปดาห์
ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 26 สัปดาห์เท่ากับ     1 – 2    สัปดาห์
ในช่วงอายุครรภ์หลัง 26 สัปดาห์เท่ากับ     2 – 3    สัปดาห์

4. การวัดเส้นรอบท้อง (Abdominal Circumference; AC)

            สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินอายุครรภ์ได้ดีพอสมควร แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะโภชนาการของทารกได้จึงทำให้การทำนายอายุครรภ์คลาดเคลื่อนได้มากกว่าตัววัดอื่นๆ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงนิยมนำมาใช้เพื่อประเมินการเจริญเติบโตและประเมินน้ำหนักทารกในครรภ์มากกว่าใช้เพื่อทำนายอายุครรภ์
 ความถูกต้องแม่นยำ
การวัดเส้นรอบท้องเป็นการวัดที่มีความคลาดเคลื่อนมากที่สุด เนื่องจากเทคนิคการวัดให้ได้ภาพที่ดีทำได้ยาก บางครั้งรูปร่างของท้องไม่กลม หรือบิดเบี้ยวไปจากการมีแขนขาทารกกดหน้าท้อง การใช้หัวตรวจกดหน้าท้องมารดาแรงเกินไป หรือวางหัวตรวจเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้หากทารกอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น ทารกนอนคว่ำ ตำแหน่งของกระดูกไขสันหลังอยู่ที่ 12 นาฬิกา จะทำให้เกิดเงาดำ (acoustic shadow) บดบังอวัยวะภายในทำให้มองไม่เห็นลักษณะสำคัญต่างๆ ดังกล่าว
ความคลาดเคลื่อนในการประเมินอายุครรภ์ที่อายุครรภ์ต่างๆ มีดังนี้(5, 11)
ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 24 สัปดาห์เท่ากับ     2          สัปดาห์
ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 24 สัปดาห์เท่ากับ     2 – 4    สัปดาห์
จะเห็นได้ว่าการวัดเส้นรอบท้องนำมาใช้ในการประเมินอายุครรภ์ได้ไม่ดีนัก แต่สามารถนำมาใช้ในการประเมินการเจริญเติบโตและน้ำหนักของทารกในครรภ์ได้ดีเนื่องจากขนาดเส้นรอบท้องมีความสัมพันธ์โดยตรงกับขนาดตัวของทารก

5. การวัดความยาวกระดูกต้นขา (Femur Length; FL)

            กระดูกท่อนยาวทุกท่อนสามารถนำมาใช้เพื่อทำนายอายุครรภ์ได้ แต่กระดูกต้นขาเป็นกระดูกที่นิยมวัดเพื่อใช้ประเมินอายุครรภ์มากที่สุด
           ความถูกต้องแม่นยำ
ความคลาดเคลื่อนในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์เท่ากับ 1 – 2 สัปดาห์ และความคลาดเคลื่อนในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์เท่ากับ 2 – 3 สัปดาห์(5, 12) แต่ในบางการศึกษาพบความคลาดเคลื่อน 2 – 3 สัปดาห์ตลอดทุกอายุครรภ์(13)
ความคลาดเคลื่อนจากการวัดความยาวของกระดูกต้นขาอาจเกิดจากหัวตรวจที่วัดไม่ตั้งฉากกับแนวยาวของกระดูกต้นขา ทำให้ค่าที่ได้สั้นกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้เชื้อชาติยังมีผลต่อค่าความยาวของกระดูกต้นขา ในคนไทยพบว่า FL สั้นกว่าชาวตะวันตกในทุกอายุครรภ์(14)

6. การวัดน้ำคร่ำ (Amniotic Fluid Index; AFI)

            คือการประเมินน้ำคร่ำในเชิงปริมาณ แตกต่างจากการประเมินด้วยความรู้สึก (subjective) หรือการใช้ประสบการณ์ของผู้ตรวจประเมินว่ามีน้ำคร่ำมาก น้อยหรือปกติ ซึ่งใช้เวลาน้อยแต่ต้องอาศัยทักษะและมีความแปรปรวนระหว่างบุคคลมาก และเมื่อรู้สึกว่าน้ำคร่ำผิดปกติต้องตรวจยืนยันด้วยการวัดน้ำคร่ำในเชิงปริมาณต่อไป

7. การคำนวณอายุครรภ์

            การคำนวณอายุครรภ์จากการวัดสัดส่วนทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะมีความแม่นยำมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และจะมีความคลาดเคลื่อนสูงมากขึ้นในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากไม่แน่ใจในอายุครรภ์ควรตรวจวัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดความยาวของทารกในไตรมาสแรกซึ่งมีความแม่นยำในการคำนวณอายุครรภ์มากที่สุด
การเลือกใช้ตัววัดแต่ละตัวในการคำนวณอายุครรภ์มีความสำคัญ เนื่องจากตัววัดแต่ละตัวมีความถูกต้องแม่นยำในการคำนวณอายุครรภ์แต่ละช่วงแตกต่างกันไป ตัววัดที่มีความแม่นยำและนิยมใช้ในการคำนวณอายุครรภ์ในแต่ละช่วงมีดังต่อไปนี้(23)
  • อายุครรภ์ 7 – 10 สัปดาห์                  CRL
  • อายุครรภ์ 10 – 14 สัปดาห์                CRL, BPD, FL, HL (humerus length)
  • อายุครรภ์ 15 – 28 สัปดาห์                BPD, FL, HL, HC, binocular distance
  • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป                FL, HL, binocular distance, BPD, HC

การคำนวณอายุครรภ์ในไตรมาสที่สองขึ้นไปควรประเมินจากตัววัดหลายตัวจะมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าการประเมินจากตัววัดตัวเดียว แต่ตัววัดแต่ละตัวที่นำมาใช้ร่วมกันนั้นต้องมีความถูกต้องในด้านเทคนิคของการวัดและไม่ถูกกระทบจากความผิดปกติของทารก เช่นการนำค่าเส้นรอบท้องมาใช้ทำนายอายุครรภ์ในกรณีทารกตัวโตผิดปกติหรือมีภาวะโตช้าในครรภ์, การนำค่าความยาวกระดูกต้นขามาใช้คำนวณอายุครรภ์ในกรณีทารกเป็นโรค skeletal dysplasia หรือการนำค่าความกว้างศีรษะทารกและค่าเส้นรอบศีรษะทารกมาใช้คำนวณอายุครรภ์ในกรณีทารกมีภาวะ hydrocephalus จะทำให้การคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาดได้
การคำนวณอายุครรภ์จากการวัดสัดส่วนทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น หากทราบอายุครรภ์จากการปฏิสนธิแน่นอนควรนับอายุครรภ์ตามนั้นไม่ควรเปลี่ยนแปลงอายุครรภ์ไปตามการวัดสัดส่วนทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และหากเคยได้รับการคำนวณอายุครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์มาเป็นอย่างดีแล้ว ควรนับอายุครรภ์ตามนั้นไม่ควรเปลี่ยนแปลงอายุครรภ์ไปตามการวัดทางคลี่นเสียงความถี่สูงในครั้งต่อๆ มา เนื่องจากความคลาดเคลื่อนจากเทคนิคการวัดมีมากขึ้นและได้รับผลกระทบจากการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
8. การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (Estimated Fetal Weight; EFW)
            การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ใช้การวัดสัดส่วนต่างๆ ของทารกมาคำนวณ โดยมีสูตรที่ใช้ตัววัดหลายตัวร่วมกันดังต่อไปนี้
  1. AC
  2. AC, BPD
  3. AC, HC
  4. AC, FL
  5. AC, BPD, FL
  6. AC, HC, BPD, FL

โดยสามารถนำมาคำนวณโดยใช้สูตรที่มีในเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ทั่วไป หรือใช้ตารางค่ามาตรฐานในการเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่าทุกสูตรจะใช้ค่าเส้นรอบท้องเป็นพื้นฐานในการคำนวณร่วมกับตัววัดมาตรฐานอื่นๆ ความแม่นยำในการคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์จึงขึ้นอยู่กับการวัดสัดส่วนทารกที่ถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดเส้นรอบท้อง, การวัดความกว้างของศีรษะ และการวัดเส้นรอบศีรษะ จะมีผลอย่างมากในการคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์
การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์มักจะทำนายน้ำหนักได้มากกว่าความเป็นจริงในกรณีทารกตัวโตกว่าอายุครรภ์ แต่ในกรณีทารกตัวเล็กหรือมีภาวะน้ำคร่ำเดินก่อนกำหนดมักจะทำนายน้ำหนักได้น้อยกว่าความเป็นจริง(24) ปัจจัยหลักที่มีผลต่อความแม่นยำในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์มีดังต่อไปนี้คือ
  1. ความผิดพลาดในการประเมินอายุครรภ์
  2. ความผิดพลาดในการวัด
  3. ขีดจำกัดในการประเมินความหนาแน่นของเนื้อเยื่อทารก (fetal density) เนื่องจากความหนาแน่นของเนื้อเยื่อทารกนี้จะมีค่าระหว่าง 0.8333 – 1.012 g/ml(25) ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์เนื่องจากความแตกต่างในความหนาแน่นดังกล่าวนี้ได้ถึง 8% - 21%(26)
การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ของประชากรไทยพบว่าการใช้สูตรที่ประกอบด้วยค่าเส้นรอบท้องและค่าความกว้างของศีรษะทารกมีความสะดวก และแม่นยำในการทำนายพอๆ กับการใช้ค่าความยาวกระดูกต้นขาร่วมด้วย และไม่มีความแตกต่างกับการใช้สูตรของ Shepard [Log10 EFW = -1.7492 + 0.166(BPD) + 0.046(AC) - 0.002546(BPD)] ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย(27) แต่ขีดจำกัดของสูตรนี้คือ ค่าความกว้างของศีรษะทารกมีความแปรปรวนตามรูปร่างของศีรษะมากกว่าค่าเส้นรอบศีรษะทารก การใช้ค่าเส้นรอบศีรษะทารกแทนจึงน่าจะให้ความถูกต้องแม่นยำมากกว่าดังเช่นสูตรของ Hadlock [Log10 EFW = 1.3596 + 0.0064(HC) + 0.0424(AC) + 0.174(FL) + 0.00061(BPD)(AC) – 0.00386(AC)(FL)] ใช้ค่าเส้นรอบศีรษะทารก, ค่าความยาวกระดูกต้นขา และค่าเส้นรอบท้องทารก ทำให้ลดความคลาดเคลื่อนในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์จากค่าความกว้างของศีรษะทารกลงได้(28)

มาตราฐานผลอัลตร้าซาวด์ทารกในครรภ์


น้ำหนักมาตราฐานทารกในครรภ์


พอหาข้อมูลมาทั้งหมด ปรางก็นั่งไล่ที่ละรายการเลยค่ะ  แอบจิต 55+  สรุปว่าลูกน้อยอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกส่วน แถมค่อนข้างไปทางใหญ่ด้วยซ้ำ คงติดมาจากพ่อซะมั้ง ฮ่าๆ
วันนี้พอแค่นี้แล้วกันนะค่ะ  ได้เวลาเตรียมเข้านอนแล้วล่ะค่ะ  ฝันดีนะคะ ^____^ 

ปรางมีเพจเย็บผ้าเด็กในเฟสชื่อ https://www.facebook.com/Guna.lazyhousewife เข้าไปเยี่ยมชมกดไลค์เป็นกำลังใจให้ได้นะค่ะ  ^___^